ผลดีของการทานอาหารแบบพระภิกษุสงฆ์กับงานวิจัยทางการแพทย์

แชร์ให้เพื่อนเลย

มีบทความทางการแพทย์ฉบับหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์ เมื่อ ๒๖ ธค. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา

เป็นบทความที่ยืนยันพุทธบัญญัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับช่วงเวลาของการฉันภัตตาหารของพระสงฆ์

คณะสงฆ์ฉันภัตตาหารอาหารในช่วงโครงการพระธรรมยาตราปีที่๘ มกราคม ๒๕๖๓

ชื่อบทความนี้คือ Effects of Intermittent Fasting on Health, Aging, and Disease  หรือผลของการจำกัดเวลาการทานอาหาร (Intermittent Fasting) ต่อสุขภาพ การชะลอวัย และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

เป็นบทความที่ได้รวบรวมผลงานวิจัยเกี่ยวกับการจำกัดเวลาการทานอาหาร

บทความทางการแพทย์นี้ เขียนโดย Dr. Dan Longo

Dr. Dan Longo เป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งที่มีชื่อเสียง และเป็นบรรณาธิการหนังสือ Harrison’s Principles of Internal Medicine  ซึ่งเป็นตำราหลักของนักศึกษาแพทย์ที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจ  เป็นหนังสือที่ใช้อ้างอิง ใช้ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย

บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร

New England Journal of Medicine หรือ N Engl j Med

บทความที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารนี้มักจะได้รับการยอมรับจากวงการแพทย์

ทางด้านอายุรกรรม ก็คือแพทย์ที่รักษาโรคโดยการใช้ยาต่างๆ

ความหมายของ Intermittent Fasting (IF)

Intermittent Fasting (IF) คือการกินอาหารโดยจำกัดเวลารับประทานอาหารเป็นช่วงเวลา คือ ช่วงอด(fasting) และ ช่วงกิน(feeding) เช่น ช่วงเวลาทานอาหาร ๘ ชั่วโมง เว้นจากอาหาร ๑๖ ชั่วโมง

รูปแบบของช่วงเวลา IF คือ ช่วงเวลาอด สามารถดื่มน้ำเปล่า ชา กาแฟดำ เครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ

ช่วงเวลาในการกิน คือ การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ ๕ หมู่ ที่เป็นประโยชน์ในปริมาณที่ร่างกายต้องการ

ส่วนการฉันภัตตาหารของพระภิกษุสงฆ์ คือ ๖/๑๘ หมายความว่า พระสงฆ์มีช่วงของการฉันภัตตาหาร  ๖ ชั่วโมง เว้นจากอาหาร ๑๘ ชั่วโมง เป็นหนึ่งในรูปแบบIFซึ่งมีหลายวิธี 

IF
ความหมาย Intermittent Fasting

วิธีการทำ IF มีหลายวิธี ได้แก่

๑. การอดอาหาร ๑๖ ชั่วโมง กินอาหาร ๘ ชั่วโมง เรียกว่า ๑๖/๘

๒. Fasts ๕ หมายถึง อดอาหาร ๑๙ ชั่วโมง กินอาหาร ๕ ชั่วโมง

๓. Eat Stop Eat หมายถึง อดอาหาร ๒๔ ชั่วโมง อด ๑-๒ ครั้งต่อสัปดาห์ ช่วงที่อดให้ทานอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่ต่ำได้

๔. ๕:๒ หมายถึง ใน ๒๔ ชั่วโมง อดอาหาร ๒ วัน อีก ๕ วันกินอาหาร

๕. Worrior Diet หมายถึง อด ๒๔ ชั่วโมง ๒ ครั้ง/สัปดาห์ อด ๒๐ ชั่วโมง และกิน ๔ ชั่วโมง หรือกินมื้อใหญ่มือเดียวนั่นเอง โดยจะเน้นกินเป็นโปรตีนและผักสด ส่วนในช่วงอดสามารถกินดื่มหรือกินอาหารที่มีแคลอรีต่ำ ๆ

๖. ADF (Alternate Day Fasting) : คือการอดอาหารแบบวันเว้นวัน ซึ่งวิธีค่อนข้างฮาร์ดคอร์ที่สุด เพราะต้องอดอาหาร ๑ วัน กินอาหาร ๑ วัน แล้วกลับมาอดอีกหนึ่งวัน โดยวันที่อดสามารถกินอาหารแคลอรีต่ำในปริมาณน้อย ๆ ได้ 

IF
วิธีการทำ IF หมายถึง การเลือกช่วงเวลาในการกินและการอดอาหารในเวลา ๒๔ ชัวโมง

การสลับเมตาบอลิซึม หรือสลับการใช้พลังงานระหว่างน้ำตาลและไขมัน

หลังการรับประทานอาหาร ร่างกายจะมีการใช้กลูโคสเป็นพลังงานอันดับแรก

ส่วนไขมัน ร่างกายจะเก็บเอาไว้ในเซลล์ไขมันในรูปแบบไตรกลีเซอไรด์

ไตรกลีเซอไรด์ประกอบด้วย กลีเซอรอลและกรดไขมันอิสระ ๓ ตัว

พบว่าหลังจากการทานอาหารคำสุดท้าย ๘-๑๒ ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มมีการสลับการใช้พลังงานจากน้ำตาลไปใช้ไขมันที่เราสะสมไว้ ด้วยการสลายไตรกลีเซอไรด์ออกมาเป็นกรดไขมันอิสระและกลีเซอรอล

ตับจะนำกลีเซอรอลไปสร้างเป็นน้ำตาลขึ้นมาใหม่ เป็นการสร้างน้ำตาลจากไขมัน ส่งผลให้ร่างกายไม่ขาดน้ำตาล

ตับจะเปลี่ยนกรดไขมันอิสระเป็นสารคีโตน และไขมันอิสระส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นพลังงาน

และระดับคีโตนในเลือดจะสูงขึ้นถึง ๒-๕ มิลลิโมลต่อลิตร ภายใน ๒๔ ชั่วโมง

ในกรณีนี้ ร่างกายสามารถนำสารคีโตนที่เกิดขึ้นไปใช้งานได้ ซึ่งต่างจากการเกิดสารคีโตนในคนเป็นโรคเบาหวาน ที่ร่างกายนำไปใช้งานไม่ได้ เพราะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เลือดเป็นกรด

สารคีโตนสามารถใช้เป็นพลังงานและยังเป็นตัวสื่อสัญญาณไปยังยีนหรือ DNA เพื่อควบคุมการทำงานของเซลล์ในร่างกาย

อวัยวะที่ใช้คีโตนเป็นพลังงานมากที่สุดคือสมอง

เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลารับสารอาหารในอีกวันหนึ่ง ร่างกายก็กลับมาใช้กลูโคสเป็นพลังงานอีก เป็นการสลับการเผาผลาญแหล่งพลังงานในร่างกาย

IF
ภาพเปรียบเทียบการเผาผลาญอาหาร

สารคีโตนกับการซ่อมเซลล์และการกำจัดของเสียในเซลล์

ยีน จะมีการปรับตัวอยู่ ๒ รูปแบบ

ช่วงเวลาที่รับประทานอาหาร สารอาหารที่เข้าไปจะกระตุ้นยีนหรือ DNA ให้ปรับเข้าสู่ภาวะการสร้างเซลล์ เพิ่มเซลล์ แบ่งเซลล์ ขยายขนาดเซลล์ แต่ก็จะทำให้มีของเสียในเซลล์จากการสร้างเซลล์เกิดขึ้น (ส่วนใหญ่เป็นคราบโปรตีนกับอนุมูลอิสระ)

เมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะการเว้นอาหาร ( หลังอาหาร ๘-๑๒ ชั่วโมง) สารคีโตนสูงขึ้น สารคีโตนจะเป็นตัวส่งสัญญานกระตุ้นให้ยีน หรือ ดีเอ็นเอ ให้ปรับตัวสู่โหมดซ่อมแซมเซลล์ และกำจัดของเสียในเซลล์ออกไปเพื่อรอช่วงเวลาที่มีสารอาหารเข้าไปใหม่ เป็นการดีทอกซ์เซลล์เพื่อยืดชีวิตเซลล์ ทำให้เซลล์มีความแข็งแรง ทนต่อความเครียดมากขึ้น ระบบต่อต้านอนุมูลอิสระจะดีมากขึ้น และ DNA ที่เสียหายจะได้รับการซ่อมแซมได้ในอัตราที่เร็วเพิ่มมากขึ้น

IF

ในระยะยาวเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายมีความอดทน ท้าทายต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากขึ้น เพื่อพัฒนาร่างกายของเราให้แข็งแรงยิ่งๆขึ้นไป

จากการศึกษาในกลุ่มของนักกีฬาพบว่าการจำกัดเวลาทานอาหารทำให้ร่างกายมีความอดทนต่อการออกกำลังกายดีขึ้น

 

สารคีโตนทำให้ป้องกันโรคความจำเสื่อมได้อย่างไร

ในคนที่ทานอาหารมากเกินไป จะมีคราบโปรตีนที่เกิดขึ้นในเซลล์สมอง เป็นของเสียในเซลล์ระบบประสาท

ซึ่งส่งผลให้เซลล์ระบบประสาทในสมองเสื่อมลง และเป็นสาเหตุของโรคสมองเช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และโรคที่มีผลต่อการเคลื่อนไหว

สารคีโตนที่เกิดขึ้นจะไปกระตุ้นให้เซลล์สมองสร้างสารสมอง BDNF (brain-derived neurotrophic factor) เป็นสารที่ซ่อมแซมเซลล์สมอง และกำจัดของเสียออก

จากการวิจัยพบว่าการจำกัดเวลาทานอาหาร ทำให้คนอ้วนที่มีปัญหาเรื่องความจำ มีความจำดีขึ้น

การจำกัดเวลาทานอาหารช่วยเรื่องเบาหวานได้อย่างไร

มีการศึกษากับมนุษย์ว่า การจำกัดเวลาทานอาหารทำให้คนที่กำลังเป็นโรคเบาหวานหรือเป็นเบาหวานชนิดที่ ๒ ร่างกายมีการตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น ภาวะการดื้ออินซูลินดีขึ้น มี ๒ การศึกษาใหม่ที่ยืนยันว่า สามารถย้อนกระบวนการและทำให้คุณหายจากเบาหวานได้  (Reverse insulin resistance in patients)

การจำกัดเวลาทานอาหารช่วยเรื่องโรคหัวใจกับหลอดเลือดได้อย่างไร

มีการศึกษาทั้งกับสัตว์ทดลองและมนุษย์ พบว่าการจำกัดเวลาทานอาหารทำให้ตัวชี้วัดในเรื่องโรคหัวใจดีขึ้น เช่น ลดค่าความดันเลือด ค่าอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก ค่าระดับไขมันในเลือด ระดับ HDL ระดับไตรกลีเซอไรด์ ระดับกลูโคส ค่าระดับอินซูลินในเลือดและการดื้ออินซูลิน ยังช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีมากขึ้น หัวใจบีบตัวได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น

และยังพบว่าการอักเสบกับการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายมีค่าลดลง

ซึ่งการอักเสบกับการเกิดอนุมูลอิสระ สัมพันธ์กับการอุดตันของเส้นเลือด  ดังนั้นการจำกัดเวลาทานอาหาร จึงเป็นการลดการอักเสบ และลดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งทำให้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง

การจำกัดเวลาทานอาหารมีผลต่อโรคมะเร็งอย่างไร

ช่วงที่มีคีโตนเกิดขึ้น และร่างกายไม่ได้รับสารอาหาร ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะ Autophagy เป็นช่วงเวลาที่ DNA ส่งสัญญาณให้ร่างกายลดการแบ่งเซลล์ ขยายขนาดเซลล์

มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง การจำกัดเวลาทานอาหารสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งใหม่ได้ ทำให้เซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นแล้วลดขนาดลงได้

ทำให้เซลล์มะเร็งมีการตอบสนองต่อการทำคีโมได้ดีขึ้น หมายความว่าทำให้เซลล์มะเร็งถูกฆ่าจากการทำคีโมได้ดีขึ้น

เพียงแต่การศึกษาในมนุษย์ยังเป็นลักษณะของ Case study เป็นรายงานของคนไข้เป็นรายๆ พบว่าบางรายมีการหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

การจำกัดเวลาทานอาหารมีผลต่อการฟื้นฟูจากการผ่าตัด

จากการศึกษาในมนุษย์ คนที่จำกัดเวลาทานอาหารก่อนผ่าตัดหรือได้รับการบาดเจ็บ ๒ สัปดาห์ พบว่าร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าปกติ และเนื้อเยื่อจะถูกทำลายจากการผ่าตัดหรือมีการบาดเจ็บน้อยลง

จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง การจำกัดเวลาทานอาหารเป็นการป้องกันการบาดเจ็บของสมอง ของหัวใจ และของไตได้เมื่อเกิดภาวะการขาดเลือด เพราะร่างกายมีความสามารถในการทนต่อการขาดเลือดได้ดีกว่าเดิม

ดังนั้นเมื่อเกิดความเจ็บป่วยอะไรก็ตามที่ทำให้อวัยวะขาดเลือด

อวัยวะเหล่านี้จะสามารถทนต่อการขาดเลือดได้นานกว่าเดิม

การจำกัดเวลาทานอาหารมีผลต่อการเพิ่มอายุขัย

พบว่าการจำกัดอาหารและงดอาหารเป็นระยะทำให้หนูทดลองมีอายุเพิ่มขึ้น ๔๕% ส่วนการยืดอายุในมนุษย์ยังไม่มีข้อมูลเป็นตัวเลข แต่การทำให้สุขภาพด้านต่างๆดีขึ้น มีงานวิจัยและการศึกษาในมนุษย์รองรับค่อนข้างชัดเจน

.จากพุทธบัญญัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกว่า ๒๕๐๐ ปีที่ผ่านมาที่ให้ชาวพุทธ พระภิกษุ สามเณร บริโภคอาหารเพียง ๒ มื้อ คือมื้อเช้าหลังพระอาทิตย์ขึ้นและมื้อเพลก่อนเที่ยง

จากการอธิบายทางการแพทย์

เราก็จะไม่ได้รับอาหารส่วนเกิน

ทำให้ร่างกายได้ใช้ไขมันสะสมไว้

ทำให้ร่างกายได้ซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอและได้กำจัดของเสียออกจากเซลล์

และเมื่อได้รับอาหารอีกครั้ง จะเป็นการสร้างเซลล์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

มีข้อที่น่าสังเกตุว่าพระหลายๆรูปแม้สูงวัย แต่เสียงยังไพเราะน่าฟัง ความจำดี เทศนาได้เป็นชั่วโมงโดยไม่ติดขัดหรือหยุดพัก

IF
ประโยชน์ในการทำ Intermittent Fasting

พระธุดงค์ฉันมื้อเดียว แต่สามารถแบกกลดเดินป่า สามารถบิณฑบาตได้ทุกวันระยะทางไกลๆหลายกิโลเมตร

ก็อาจเกิดจากผลดีของพุทธบัญญัติที่จำกัดเวลาการฉันภัตตาหาร

บทความทางการแพทย์ฉบับนี้ เป็นเพียงการยืนยันวัตรปฎิบัติการฉันภัตตาหาร การบริโภค ๒ มื้อว่า ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องปกติ มีผลดีต่อสุขภาพ และสามารถใช้ได้กับคนทุกวัย

แต่การจะมีอายุที่ยืนยาวโดยปราศจากโรคยังขึ้นอยู่กับการได้รับสารอาหารในแต่ละมื้อที่ได้สัดส่วนและครบถ้วนด้วย 

ภาพผลการทำงานระบบย่อยอาหาร

รีวิวบทความภาษาไทยโดยนายแพทย์ธนศักดิ์ ยิ้มเกิด

คิดอย่างไรกับเรื่องนี้